ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 2.9 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด โดยอยู่ในภาคการผลิต จำนวน 545,098 กิจการ ภาคการค้าและซ่อมบำรุง จำนวน 1,383,391 กิจการ และภาคบริการ จำนวน 983,610 กิจการ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.8 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือ GDP SMEs ถึง 3.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.1 ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ
จากการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้โครงการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของ SMEs (SME I/O Table) พบว่า โครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของ SMEs เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งหมด ดังนั้นหากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ซึ่งผลจากการปรับค่าจ้างแรงงานครั้งล่าสุดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา มีการปรับค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ส่งผลให้ต้นทุนของกิจการในด้านค่าใช้จ่ายแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.03 โดยเหตุผลในการปรับเพิ่มมี 2 ประการ คือ ช่วยให้แรงงานรอดพ้นจากความยากจนที่รุนแรง และมีรายได้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ และช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยเท่ากับ 175.8 บาท/วัน
ดังนั้น นโยบายการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน เท่ากันทั่วประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ SMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน หากมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท/วัน จะทำให้ธุรกิจ SMEs มีค่าแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 และต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และเมื่อพิจารณาถึงจังหวัดหลักๆ ที่มีการจ้างงานในระดับสูง พบว่า ร้อยเอ็ด และ ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่จะมีการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานและต้นทุนสูงที่สุด รองลงมาคือ อุดรธานี และอุบลราชธานี ขณะที่ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่จะมีการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานและต้นทุนต่ำที่สุด (รายละเอียดตามตาราง)
ตาราง : แสดงการเพิ่มขึ้นของค่าแรงงานและต้นทุน ในพื้นที่หลักที่มีการจ้างแรงงาน
กรณีที่มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 30 บาท/วัน
จังหวัด | ค่าจ้างแรงงานปัจจุบัน (บาท/วัน) | ค่าแรงงานเพิ่มขึ้น (%) | ต้นทุนเพิ่มขั้น (%) |
กรุงเทพมหานคร | 215 | 39.5 | 6.4 |
ขอนแก่น | 167 | 80.0 | 13.0 |
ชลบุรี | 196 | 53.0 | 8.6 |
เชียงใหม่ | 180 | 66.7 | 10.8 |
นครปฐม | 215 | 39.5 | 6.4 |
นครราชสีมา | 183 | 64.0 | 10.4 |
นครศรีธรรมราช | 174 | 72.4 | 11.7 |
ปทุมธานี | 215 | 39.5 | 6.4 |
ภูเก็ต | 221 | 35.7 | 5.8 |
ร้อยเอ็ด | 166 | 80.7 | 13.0 |
สงขลา | 176 | 70.5 | 11.4 |
สมุทรปราการ | 215 | 39.5 | 6.4 |
สมุทรสงคราม | 172 | 74.4 | 12.0 |
สมุทรสาคร | 215 | 39.5 | 6.4 |
สุราษฎร์ธานี | 172 | 74.4 | 12.0 |
อุดรธานี | 171 | 75.4 | 12.2 |
อุบลราชธานี | 171 | 75.4 | 12.2 |
เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขาธุรกิจ (คิดค่าเฉลี่ยทุกรายสาขาธุรกิจมีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 215 บาท/วัน การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ส่งผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5) พบว่า ธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมากต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นภาคการผลิต ธุรกิจที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์หวาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 รองลงมา คือ ธุรกิจผลิตพลอยเจียรไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ธุรกิจผลิตเครื่องนุ่งห่มและผลิตเครื่องกระเป๋าหนัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และธุรกิจการฟอกย้อมพิมพ์ลายผ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ภาคบริการ ธุรกิจที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 รองลงมาคือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างบ้าน และ ธุรกิจการขนส่งทางบก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และ 8.0 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ SMEs และผู้ใช้แรงงาน โดยในส่วนของผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs จะปรับตัวหันมาใช้ความรู้และฝีมือในการประกอบธุรกิจมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานที่มีความรู้และมีประสบการณ์มากขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพแรงงาน ซึ่งเป็นผลดีต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป นอกจากนี้การปรับเพิ่มค่าจ้างยังเป็นไปตามแนวโน้มของประเทศที่จะต้องปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานอยู่แล้วเนื่องจากอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานทั้งระดับไร้ฝีมือและมีฝีมือ ในขณะที่ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอาจกดดันให้ผู้ประกอบการหันไปใช้เครื่องจักร หรือแรงงานต่างด้าวทดแทน
สสว. เห็นว่าเพื่อลดผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน อาจพิจารณาดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน เช่น ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานกึ่งฝีมือหรือมีประสบการณ์ ขณะเดียวกันต้องมีการดำเนินมาตรการส่งเสริม สนับสนุนภาคธุรกิจ SMEs ในด้านต่างๆ ที่ชัดเจน เช่น ที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูง รัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้เงินสนับสนุนแบบให้เปล่าแก่ SMEs ที่มีศักยภาพ เพื่อลดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากอัตราค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน โดยจัดการอบรมเฉพาะทางให้กับธุรกิจแต่ละสาขาสำหรับลูกจ้างรายเดิม หรือการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานรายใหม่
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น